วงปี่พาทย์พื้นเมือง
จากผลการวิจัยดังกล่าวพบว่าวงปี่พาทย์พื้นเมืองเป็นวงดนตรีเก่าแก่คู่ล้านนา เดิมเรียกว่าวงพาทย์ หรือพาทย์ฆ้อง วงพาทย์ประกอบด้วยเครื่องดนตรี ฆ้องวง แน (ปี่) ตระโพนมอญ ฉิ่ง ฉาบ ต่อมาได้มีเครื่องดนตรีจากภาคกลางเข้าไปผสมได้แก่ ระนาดเอก ระนาดทุ้ม จึงเรียกว่าวงปี่พาทย์พื้นเมืองชาวบ้านเรียกว่าวงป้าดหรือวงทึ่งทึง วงปี่พาทย์พื้นเมืองยังคงมีความสำคัญในพิธีกรรมงานศพของชาวบ้าน ปัจจุบันวงดนตรีมีจำนวนวงลดลงอย่างรวดเร็ว จนอาจกล่าวได้ว่าวงปี่พาทย์พื้นเมืองมีลู่ทางที่จะสูญหายไปจากชุมชนอย่างแน่นอน เพราะไม่มีผู้สืบทอดองค์ความรู้ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงปี่พาทย์ล่มสลายคือภาวะเศรษฐกิจของชุมชน กล่าวคือการจ้างวงปี่พาทย์พื้นเมืองไปบรรเลงในพิธีกรรมงานศพแต่ละครั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ในขณะเดียวกันนักดนตรีกลับมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เพียงพอแก่การยังชีพ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สนในจะมีอาชีพเป็นนักดนตรีหรือที่เป็นอยู่แล้วก็หันเหไปประกอบอาชีพที่ให้ค่าตอบแทนสูงกว่า
ในด้านการอนุรักษ์วงปี่พาทย์พื้นเมือง ชุมชนและโรงเรียนยังขาดความคิดริ่เริ่มที่จะอนุรักษ์เพราะชุมชนและโรงเรียนไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับวงปี่พาทย์พื้นเมือง ต่อเมื่อชุมชนและโรงเรียนได้รับทราบข้อเท็จจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานภาพของวงปี่พาทย์พื้นเมือง จึงทำให้ทั้งโรงเรียนและชุมชนมองเห็นคุณค่าและเกิดคยวามห่วงใยอนาคตของวงดนตรีประเภทนี้ เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความคิดที่จะสร้างกระบวนการอนุรักษ์แบบยั่งยืน โดยชุมชนและโรงเรียนจะต้องร่วมมือกันสร้างหลักสูตรท้องถิ่นวงปี่พาทย์พื้นเมืองเพื่อนำไปใช้สอนในโรงเรียนให้บุตรหลานของชาวบ้านเป็น ผู้สืบทอดองค์ความรู้ ซึ่งจากการศึกษาความต้องการของชุมชน ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการสืบทอด องค์ความรู้ และการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับโรงเรียน จากข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากประชาคมต่าง ๆ ในชุมชน โรงเรียน และชาวบ้านทั่วไป สรุปได้ว่า ชุมชนมีความต้องการและมีความพร้อมที่ร่วมมือกับโรงเรียนในการสืบทอดองค์ความรู้วงปี่พาทย์